วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม

แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552 - 2554)
องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม
อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
…………………..
บทที่ 1 บทนำ
1.1 ลักษณะของแผนพัฒนาสามปี
แผนพัฒนาสามปี เป็นการแปลงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาหนึ่งๆ จะมีแนวทางการพัฒนาได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง และภายใต้แนวทางการพัฒนาหนึ่ง จะมีโครงการ/กิจกรรมได้มากกว่าหนึ่งโครงการ/กิจกรรมที่จะต้องนำมาดำเนินการ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งจะมีผลต่อวัตถุประสงค์เป้าหมาย จุดมุ่งหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิสัยทัศน์ในที่สุด

1.2 วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
แผนพัฒนาสามปี เป็นแผนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้การวางแผนพัฒนาเป็นเครื่องมือในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยนำโครงการ/กิจกรรมจากแผนพัฒนาสามปี ในปีที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไปจัดทำงบประมาณ เพื่อให้กระบวนการจัดทำงบประมาณเป็นไปด้วยความรอบคอบและผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม(Participatory) ของประชาชน

1.3 ขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
จากการที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนาในแผนยุทธศาสตร์ หลัง
จากนั้นถึงขั้นตอนในการแปลงสู่การปฏิบัติโดยการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดทำแผนพัฒนาสามปี จำนวน 7 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการจัดทำแผน
1.ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้รับผิดชอบการจัดทำแผนพัฒนา) พบผู้บริหารท้องถิ่นชี้แจง วัตถุประสงค์ ความสำคัญและความจำเป็นในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงภารกิจ (Mission) ที่จะต้องดำเนินการต่อไปพร้อมทั้งเสนอโครงการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ห้วงปี 2552-2554 เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติ (โครงการดังกล่าวจะเป็นการกำหนดทรัพยากรในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี และกำหนดปฏิทินการทำงานไว้อย่างชัดเจน
2. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้รับผิดชอบการจัดทำแผนพัฒนา) แจ้งโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ได้แก่
-คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล
-คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล
-สำนักงานปลัด อบต. , ส่วนการคลัง,ส่วนการศึกษาและส่วนโยธา
-ประชาคม (Civil Society)

ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
1.คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล สรุปข้อมูลจากยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนา ปัญหาความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดอุบลราชธานี/อำเภอตระการพืชผล และนโยบายของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล
2.คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล จัดการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาคมตำบล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาโดยในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาจัดทำโครงการ/กิจกรรมในแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) ต่อไป
3.เมื่อได้กำหนดแนวทางการพัฒนาแล้ว พิจารณาว่าจะมีโครงการ/กิจกรรมที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแนวทางการพัฒนาที่คัดเลือกเป็นกรอบในการพัฒนา
4.การพิจารณากำหนดกิจกรรม ได้แยกประเภทของโครงการออกเป็น 3 ประเภท คือ
4.1 โครงการที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม ดำเนินการเอง (มีขีดความสามารถทั้งทางด้านกำลังเงิน กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ และความรู้ทางด้านการบริหารจัดการที่จะดำเนินการได้เอง)
4.2 โครงการที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม อุดหนุนให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ (เป็นงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่แต่องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม ไม่ประสงค์จะดำเนินการจึงได้มอบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนโดยตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน)
4.3 โครงการที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ (เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ หรือเป็นโครงการที่หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะอยู่แล้ว)

ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
1.การเก็บรวบรวมข้อมูล
คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ดำเนินการสำรวจและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำแผนพัฒนาสามปี รวมทั้งวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทางการพัฒนาที่เลือก และประการสำคัญคือ ข้อมูลภายในองค์กรและข้อมูลภายนอกองค์กร เพื่อสามารถนำมาวิเคราะห์ตามหลักเทคนิค SWOT Analysis
2.การวิเคราะห์ข้อมูล
คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะมี 4 กิจกรรมหลักๆ คือ
2.1 การประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมา
2.2 การคัดเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนา
2.3 การจัดลำดับความสำคัญของแนวทางการพัฒนา
2.4 การตัดสินใจเลือกแนวทางการพัฒนาในห้วงสามปี

ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา
1.เมื่อได้แนวทางการพัฒนาในช่วงสามปีแล้ว ประชุมร่วมกันพิจารณาการคัดเลือกวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนา มาจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา โดยพิจารณาการคัดเลือกวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปี โดยนำวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปี
2.ประชุมร่วมกันพิจารณากำหนดโครงการ/กิจกรรม การพัฒนาที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่คัดเลือก

ขั้นตอนที่ 5 การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมการพัฒนา
คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาการคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปีมาจัดทำรายละเอียดโครงการ ในด้านเป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ งบประมาณ ระยะเวลา ผู้รับผิดชอบ และตัวชี้วัดความสำเร็จโดยเน้นรายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีแรก (พ.ศ.2552) ของแผนพัฒนาสามปี เพื่อสามารถนำไปจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ได้ต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำร่างแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554)
1.คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำร่างแผนพัฒนา สามปี (พ.ศ.2552-2554) โดยมีเค้าโครงร่างประกอบด้วย 7 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำ
ส่วนที่ 2 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม
ส่วนที่ 3 สรุปผลการพัฒนาท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา
ส่วนที่ 4 ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในช่วง สามปี
ส่วนที่ 5 บัญชีโครงการพัฒนา
ส่วนที่ 6 การติดตาม และประเมินผลการนำแผนพัฒนาสามปีไปปฏิบัติ
2.คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล จัดเวทีประชาคม ซึ่งในการประชาคมนั้นประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาคมตำบล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเสนอร่างแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554)ให้สมบูรณ์ต่อไป
3.คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล นำร่างแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) ที่ผ่านการประชาคมตำบลที่ปรับปรุงแล้วเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อพิจารณา

ขั้นตอนที่ 7 การอนุมัติและประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554)
1.คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล เสนอร่างแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2552-2554) ที่ผ่านการพิจารณาให้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) เสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม
2.ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) นำร่างแผนพัฒนาสามปีที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไม
3.ประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี และนำไปปฏิบัติ และแจ้งให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการพัฒนาจังหวัด (กพจ.) คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ (กพอ.) คณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น คณะอนุกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น ทราบ และประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบโดยทั่วกัน

1.4 ประโยชน์ของการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
ในการจัดทำแผนพัฒนาสามปีขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น เป็นการพิจารณาและกำหนดแนวทางปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ และเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆในอนาคต และตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยผ่านกระบวนการคิดก่อนทำ (ความพยายามที่เป็นระบบ) เป็นการลดความไม่แน่นอนและปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, ทำให้เกิดการยอมรับแนวคิดใหม่ๆเข้ามาในองค์การ, ทำให้การดำเนินการขององค์การบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา, ลดความสูญเปล่าของหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนเพราะการวางแผนทำให้มองเห็นภาพรวมขององค์การที่ชัดเจน และยังเป็นการอำนวยประโยชน์ในการจัดระเบียบขององค์การให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงานมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความแจ่มชัดในการดำเนินงาน เนื่องจากการวางแผนเป็นการกระทำโดยอาศัยทฤษฎี (Theory) หลักการ (Concept) และงานวิจัยต่างๆ (a rational approach) มาเป็นตัวกำหนดจุดมุ่งหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในอนาคต กล่าวได้ว่า ไม่มีองค์กรใดที่ประสบความสำเร็จได้ โดยปราศจากการวางแผน ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นภารกิจอันดับแรกที่มีความสำคัญของกระบวนการจัดการที่ดี และการวางแผนพัฒนาสามปีที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้
1.บรรลุจุดมุ่งหมาย (Attention of Objective) มีทิศทางไปยังจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้โดยอย่างสะดวกและเกิดผลดี
2.ประหยัด (Economic Operation) ทำให้ฝ่ายต่างๆมีการประสานงาน มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า เป็นการลดต้นทุนก่อให้เกิดการประหยัดแก่องค์กร
3.ลดความไม่แน่นอน (Reduction of Uncertainty) การวางแผนที่มีประสิทธิภาพเป็นผลมาจากการวิเคราะห์พื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นแล้ว ทำการคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต และได้หาแนวทางพิจารณาป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว
4.เป็นเกณฑ์ในการควบคุม (Basis of Control) ถ้าไม่มีการวางแผนก็ไม่สามารถมีการควบคุม กล่าวคือ แผนกำหนดจุดมุ่งหมายและมาตรฐานการปฏิบัติงานในหน้าที่การควบคุม
5.ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ (Encourages innovation and Creativity)การวางแผนเป็นพื้นฐานด้านการตัดสินใจและเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ (นวัตกรรม) และความคิดสร้างสรรค์
6.พัฒนาแรงจูงใจ (Improves Motivation) การวางแผนยังเป็นเครื่องมือฝึกและพัฒนาแรงจูงใจที่ดีสำหรับผู้บริหารในอนาคต
7.พัฒนาการแข่งขัน (Improves Competitive Strength) การวางแผนจะเกี่ยวข้องกับการขยายขอบข่ายการทำงาน เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
8.ทำให้เกิดการประสานงานที่ดี (Better Coordination) กิจกรรมต่างๆที่จัดวางไว้มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันมีการจัดประสานงานในฝ่ายต่างๆขององค์การเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในงานแต่ละฝ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล


**********************************

ไม่มีความคิดเห็น: